สปสช.ย้ำสัดส่วนการจัดซื้อ “บัญชีนวัตกรรมไทย” ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เป็นไปตามระเบียบ ส่วนบางกรณีกำหนดใช้ถึง 100% ขึ้นกับอนุกรรมการฯพิจารณาตามความจำเป็น ยกตัวอย่าง รากฟันเทียม “หมอจเด็จ” ตอบปมบางส่วนมองว่าประสิทธิภาพนวัตกรรมไทยสู้ต่างชาติไม่ได้แม้ราคาถูกกว่ามาก ขอให้แจ้งหลักฐาน ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบให้ชัดเสนอเข้า สปสช.พิจารณา
จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เห็นชอบแนวทางการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ใน “บัญชีนวัตกรรมไทย” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ผลิตขึ้นได้ภายในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้รับเรื่องร้องเรียนถึงข้อกังวลของการใช้บัญชีนวัตกรรมจากผู้ปฏิบัติงานในแวดวงสาธารณสุข ซึ่งมีข้อห่วงใยในการกำหนดสัดส่วนการใช้บัญชีนวัตกรรมของ สปสช. เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า บางอย่างให้ใช้ 100% ซึ่งราคาอาจไม่ได้แตกต่างมากนักเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ชัดถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว
ล่าสุดนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus ถึงเรื่องนี้ ว่า ตามระเบียบโรงพยาบาลทุกแห่งต้องจัดซื้อผลิตภัณฑ์ บริการหรือใดๆที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ที่เข้าข่ายนิยาม “บัญชีนวัตกรรม” ไม่น้อยกว่า 30% ซึ่งสามารถจัดซื้อได้มากกว่าจะเป็น 31 หรือ 35 เปอร์เซ็นต์ได้ทั้งหมด ซึ่งนิยามนวัตกรรมทางการแพทย์ตามมติที่บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบนั้น หมายความถึงผลิตภัณฑ์ บริการ กรรมวิธีการผลิต การจัดโครงสร้างองค์กร ระบบบริหารจัดการ ที่เป็นสิ่งใหม่ หรือได้รับการปรับปรุงจากเดิม ขณะที่ในส่วนสินค้าและบริการที่มีความคล้ายคลึงที่พัฒนาและจำหน่ายอยู่แล้วในประเทศ ต้องมีคุณสมบัติในการปรับปรุงประสิทธิภาพ หรือมีคุณภาพที่ดีกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้สื่อข่าวถามว่าเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า บางกรณีกำหนดให้ซื้อในบัญชีนวัตกรรมถึง 100% นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับทางคณะอนุกรรมการ พิจารณาความจำเป็น ยกตัวอย่าง รากฟันเทียม ก็สามารถจัดซื้อได้ไม่น้อยกว่า 30% ตามปริมาณความต้องการ อย่างรากฟันเทียมพระราชทานฯ ในแต่ละปีอาจต้องการบริการผู้ป่วย7,500 คน ก็เอา 30% หรือ 1 ใน 3 ประมาณกว่า 2 พันคน แต่ด้วยนโยบายของคณะกรรมการที่ต้องการสนับสนุนเรื่องนี้ คำว่าไม่น้อยกว่า 30% ก็สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ 31% ไปจนถึง 100% จึงเป็นการสนับสนุนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้บอกว่า ทุกครั้งต้องจำนวนเท่านี้ ขึ้นอยู่กับบริบท สภาพการณ์ต่างๆ
“เคยมีประสบการณ์อย่างกรณียาฉีด อีรีโทรโพอิติน (Erythropoietin หรือ EPO) ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กำหนดให้ซื้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 แต่ปริมาณอาจน้อยกว่าก็มี พูดตรงๆ หากเราจะมีนโยบายสนับสนุนการผลิตในประเทศ บางครั้งอาจไม่เพียงพอในการเมนเทน (maintenance) ความสามารถดังกล่าว ซึ่งต้องเรียนว่า บัญชีนวัตกรรมไม่ใช่ว่า เราจะสนับสนุนตลอดไป จะมีกติกาในการสนับสนุนช่วงเวลาหนึ่ง เช่น 2-3 ปี หลังจากนั้นก็ต้องดำเนินการเอง” เลขาธิการสปสช.กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ต้องย้ำนิยามของคำว่า นวัตกรรมที่จะเข้าในบัญชีตามเกณฑ์ของ สปสช.ต้องมี 2 องค์ประกอบ คือ ต้องมีความใหม่และโดดเด่น หากมีการเลียนแบบ ถึงแม้จะอยู่ในบัญชีนวัตกรรม จะไม่เอา อย่างที่ผ่านมาสปสช.เคยไปทวนดูรายละเอียดบัญชีนวัตกรรม พบว่า 170 กว่ารายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยา ซึ่งไม่มีอะไรใหม่ เป็นเพียงเอาของที่อื่นมาทำ ซึ่งโดยหลักต้องทำขึ้นเอง มีความใหม่จริงๆ ที่สำคัญ “ราคา” ต้องไม่สูงกว่าตลาด เพราะหากยังทำของในราคาสูงกว่า ความสามารถในการแข่งขันของเราอาจไม่ได้ ตรงนี้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาเบื้องต้น
“ในบัญชีนวัตกรรมของสำนักงบประมาณ ทางสปสช.มีทีมไปดูแล้ว และพบว่า มีจำนวนหนึ่งความเป็นนวัตกรรมใหม่ยังไม่มี แต่หากเป็นนวัตกรรมจริงๆ จะมีคณะทำงานเข้าไปดูและดำเนินการเรื่องนี้” นพ.จเด็จ กล่าวและว่า ส่วนใหญ่ สปสช.สนับสนุนเรื่องยา แต่ถ้าพวกวัสดุทางการแพทย์ที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรม อาทิ รากฟันเทียม กะโหลกเทียม 3D และเท้าเทียมไดนามิก
เมื่อถามว่าโรงพยาบาลที่ยังมีคำถามเรื่องการใช้นวัตกรรมจะมีช่องทางหารือกับสปสช.อย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า ยินดีรับฟัง สามารถพูดคุยหารือกันได้ เพราะหากพบว่าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์รายการใด หากใช้แล้วเกิดคำถาม หรือปัญหาเรื่องใดก็ตาม สามารถติดต่อมาได้ อย่างถุงทวารเทียม แรกๆ ก็เคยมีประเด็นพาสเตอร์ไม่แน่น ก็สามารถหารือกันได้ ซึ่งก็สามารถพัฒนาแก้ปัญหาร่วมกัน
ถามกรณียังมีบางประเด็นมองว่า ผลิตภัณฑ์หรือวัสดุทางการแพทย์ของต่างประเทศประสิทธิภาพอาจดีกว่า นพ.จเด็จกล่าวว่า ต้องพิสูจน์ว่าของไทยต่างกับของต่างประเทศอย่างไร ต้องมีข้อมูล การพูดถึงประสิทธิภาพต้องดูว่า วัดจากอะไร อย่างบัญชีนวัตกรรมที่ซื้อมาทั้งปียังไม่ถึง 500 ล้านบาท อย่าง รากฟันเทียม ซื้อมาในราคารากละ 3 พันบาท แต่ก่อนหน้านี้ต้องจัดซื้อเป็นหมื่นบาท ซึ่งก็มีข่าวว่า ขณะนี้มีบางยี่ห้อทำราคาต่ำกว่า 3 พันบาท ซึ่งเรายังอยู่ในช่วงสนับสนุนบัญชีนวัตกรรมก็ต้องดำเนินการ และหากเรายกเลิกปรากฎว่าราคาขึ้นมาอีก ดังนั้น หากหน่วยบริการใดมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพก็ขอให้ส่งมายัง สปสช.ได้ เพราะหากพูดว่าไม่มีประสิทธิภาพ ต้องมีข้อมูลวิทยาศาสตร์มารองรับด้วย