เริ่ม ก.ค.นี้ ‘คลินิกพรีเมียม’ ในเวลาราชการ นำร่อง รพ.สธ. 2 แห่ง ก่อนขยายอีก 6 แห่ง ส.ค.68 ตามนโยบาย “รมว.สมศักดิ์” หวังเพิ่มรายได้ ลดแออัด เผยขั้นตอน ไทม์ไลน์ รายได้เข้าระเบียบเงินบำรุง และใช้จ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ อิงระเบียบ Premium Clinic ภายใต้กรอบวงเงิน P4P
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7 /2568 เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2568 ที่ผ่านมา โดยระบุถึงการหารือแนวคิดเรื่อง คลินิกบริการพิเศษ หรือ คลินิกพรีเมียม (Premium Clinic) โดยจะนำร่อง 8 จังหวัดที่มีผู้คนหนาแน่น เพราะในส่วนของการแก้ปัญหา อย่างการผลิตหรือสร้างบุคลากรทางการแพทย์มารองรับอย่างรวดเร็วนั้น ทำไม่ได้ การจะสร้างอาคาร สถานที่ขึ้นมาอย่างรวดเร็วก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำได้ คือ แยกผู้ป่วยที่สามารถรับบริการตรงนี้ได้ออกมา
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเร่งด่วนในเรื่องการหาพื้นที่ที่สามารถใช้ “เทเลเมดิซีน” หรือแพทย์ทางไกลมาช่วยดูแลรักษา รวมไปถึงการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปตามเป้าของกระทรวงสาธารณสุข
แนวทางจัดบริการ "คลินิกรูปแบบพิเศษ"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายละเอียด แนวทางการจัดบริการคลินิกรูปแบบพิเศษ หรือ Premium Clinic ซึ่งมีการนำเสนอในการประชุมผู้บริหารฯ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2568 ที่ผ่านมา โดย นพ.พงษ์ศักดิ์ นิติการุญ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข โดยรายยงานวัตถุประสงค์ กรอบแนวคิด ขั้นตอนจัดทำระเบียบรองรับ และไทม์ไลน์ในการเกิด Premium Clinic
วัตถุประสงค์ การจัดบริการคลินิกรูปแบบพิเศษ คือ
1.สร้างความมั่นคงทางการเงินแก่หน่วยบริการ ตามนโยบายด้านเศรษฐกิจสุขภาพ เพิ่มรายได้ให้กับหน่วยบริการภาครัฐ
2.เพิ่มทางเลือกแก่ผู้รับบริการ ผู้ที่มีรายได้ รวมถึงชาวต่างชาติที่มาในเวลาราชการ เพื่อลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย
3.เพิ่มศักยภาพหน่วยบริการภาครัฐ ให้สามารถบริหารจัดการรายรับและรายจ่ายได้อย่างเหมาะสม
4.บูรณาการร่วมกับภาคเอกชน บริหารจัดการและบูรณาการร่วมกัน จัดหาทรัพยากรที่จำเป็นต่อระบบบริการสาธารณสุข
กรอบแนวคิด ในการจัดเก็บรายได้จากการจัดบริการคลินิกรูปแบบพิเศษ แบ่งเป็น
1.รายได้ Premium Clinic เข้าเงินบำรุงฯ (ขาเข้า) เป็นไปตามระเบียบฯ ใหม่ ผู้รับบริการจ่ายเพิ่ม(ส่วนต่าง)
2.ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่จ่ายจากเงินบำรุงฯ (ขาออก) ใช้ระเบียบ Premium Clinic ภายใต้กรอบวงเงิน P4P ขอขยาย 1-2% (ใช้อำนาจฯ สสจ.+เขต)
3.ขั้นตอนจัดทำระเบียบ Premium Clinic ประกอบด้วย
1) แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะอนุกรรมการ Premium Clinic
2)คณะกรรมการเสนอ(ร่าง) ระเบียยบ/ประกาศที่เกี่ยวข้อง 5 ฉบับ
3) ระเบียบเกี่ยวข้อง 5 ฉบับ คือ (1)ระเบียบ Premium Clinic (2)ประกาศนโยบาย (3)ประกาศอัตราค่าบริการ (4)ประกาศอัตราค่าตอบแทน (ภายใต้หลักเกณฑ์ P4P) และ (5) ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
4.หน่วยบริการ(นำร่อง) ดำเนินงาน Premium Clinic ซึ่งรพ.นำร่อง 8 แห่ง
สำหรับไทม์ไลน์ดำเนินการนั้น ประกอบด้วย
- ก.ค.68 คณะกรรมการฯ เสนอร่าง ตามระเบียบฯมารองรอง โดยเฟสแรก นำร่อง ใน 2 แห่ง คือ รพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี และ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี
- ส.ค.68 หน่วยบริการนำร่องดำเนินงานตามระเบียบ 8 แห่ง โดยมี 6 แห่งเริ่มในเฟสสอง คือ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ รพ.ลำปาง รพ.วชิระภูเก็ต ศูนย์การแพทย์นนทบุรี และรพ.พัทยาปัทมคุณ
- ก.ย.68 คณะกรรมการฯ กำกับติดตามประเมินผล ปรับปรุงแกส้ไข ระเบียบ/ประกาศฯ
-ต.ค.68 หน่วยบริการนำร่อง ดำเนินงานตามระเบียบฯ Premium Clinic 8 แห่ง